การจูนคืออะไร การจูนที่เราเรียกๆกัน จูน(Tune) หรือ จูนนิ่ง(Tuning) คือการปรับ ในภาษาของรถหมายถึงการปรับส่วนผสมน้ำมันอากาศ องศาการจุดระเบิด เป็นหลักและอื่นๆ เพื่อให้เครื่องยนต์ทำงานได้สมบูรณ์ตามที่เรา(ผู้ปรับ)ได้ออกแบบไว้ เช่น อยากจูนรถบ้านจ่ายตลาดทำไม่เยอะหรือรถเดิม เน้นประหยัด ขี่ไม่พัง ไม่ต้องแรงแข่งกับใคร หรือ เครื่องโมเน้นซิ่ง น้ำมันมีตังเติม หัวแถวแนวหน้า ก็จะมีแนวคิดในการปรับต่างกันไป ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ของการใช้งาน ประเภทของน้ำมันเชื้อเพลิง และเครื่องยนต์ด้วย
เครื่องยนต์สันดาปห์ภายในหรือเรียกเข้าใจง่ายๆก็เครื่องยนต์ลูกสูบนี่แหละ ในบทความนี้จะขอพูดถึงเฉพาะเครื่องยนต์ที่จุดระเบิดด้วยประกายไฟ(เครื่องยนต์เบนซิน)กันก่อนนะครับ การเผาไหม้จะเกิดขึ้นได้ต้องมีองค์ประกอบ 3 อย่างด้วยกันคือ อากาศ(ออกซิเจน),เชื้อเพลิงและความร้อน(ประกายไฟ) จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไปไม่ได้ หรือบางอย่างน้อยไปหรือมากไป ก็จะมีผลกับการเผาไหม้(การระเบิด) ไม่สมบูรณ์ ไม่รุนแรง ดังนั้นการปรับจูน ก็คือการทำให้ปัจจัย 3 อย่างนี้มีส่วนผสมที่ลงตัว การจูนรถโดยทั่วไปแล้ว จะเข้าไปยุ่งกับการจ่ายเชื้อเพลิง และจังหวะเวลาของการระเบิด แต่สำหรับอากาศแล้ว เครื่องยนต์เป็นคนดูดเอง(ไม่มีระบบอัดอากาศ) อยากให้เครื่องยนต์มีกำลังเพิ่มขึ้นก็ทำให้กินอากาศเพิ่มขึ้นก่อน นั่นคือในส่วนของงานโมดิฟาย และเป็นงานหลักของการเพิ่มกำลังให้กับเครื่องยนต์ เพราะถ้าปอดใหญ่ ตัวใหญ่ เดี๋ยวเราไปจูนเพิ่มน้ำมันตามได้ไม่ยาก
จูนน้ำมัน ต้องจูนยังไง? หลักการจูนน้ำมันจะต้องมีตัววัดผลตัวนึงที่ทางออกของไอเสีย เราจะเรียกว่าอัตราส่วนผสมอากาศต่อน้ำมัน AFR(Air Fuel Ratio) หรือบางหน่วยใช้ แลมด้า Lambda ก็ไม่ผิด แต่ในที่นี้ผมขอใช้หน่วยแลมด้า Lambda ทั้งหมดเพื่อกันการสับสน และขอละการอธิบาย AFR ของแต่ละน้ำมันเชื้อเพลิงไว้ก่อน เราจะรู้ได้อย่างไรว่าที่เครื่องกินเข้าไป(อากาศ+น้ำมัน) นั้นดีหรือไม่ดี อร่อยหรือไม่อร่อย เราก็ต้องวัดของเสียที่มันถ่ายออกมา เครื่องมือที่ใช้ในการอ่านไอเสียหรือเรียกติดปากกันว่า ออกซิเจนเซนเซอร์ (วัดออกซิเจนที่เหลือจากการเผาไหม้) โดยทางทฤษฎีของเครื่องยนต์แล้วจะให้ส่วนผสมที่สมบูรณ์ที่สุดอยู่ที่ แลมด้า เท่ากับ 1 (14.7:1 ของน้ำมันเบนซิน) แต่…ในทางปฏิบัติและตัวเลขที่เครื่องยนต์ชอบแล้วนั้น ส่วนใหญ่จะน้อยกว่าแลมด้า 1 ลงมา (0.9,0.8) หรือน้ำมันหนา ก็จะได้กำลังที่เพิ่มขึ้นและยังช่วยให้เครื่องยนต์เย็นขึ้นอีกด้วย แล้วต้องหนาแค่ไหนถึงจะดี อันนี้ขึ้นอยู่กับเครื่องยนต์ การโมดิฟาย ประเภทของเชื้อเพลิง โดยส่วนมาก(ประสบการณ์ของผู้เขียน) ถ้าต้องการกำลังสูงสุด จะกำหนดไว้ที่ 0.9-0.87 แต่ในรอบสูงๆหรือรถที่ใช้กำลังสูงสุดต่อเนื่องนานๆ ก็อาจจะไปถึง 0.85 ได้ และจะต้องหนาเพิ่มขึ้นไปอีกสำหรับเครื่องยนต์ที่มีระบบอัดอากาศ เพื่อช่วยเรื่องการรักษาอุณหภูมิและชิ้นส่วนเครื่องยนต์ อันนี้ก็อย่างที่บอกว่าขึ้นอยู่กับหลายปัจจัยนะครับ แต่การจูนที่หนาเกินไป(เครื่องไม่ชอบ) ก็จะทำให้สูญเสียกำลังไปด้วยบางส่วน แต่ในบางครั้ง “เราก็ต้องยอมเสียม้าไม่กี่ตัว เพื่อรักษาเครื่องยนต์ไว้ ” บางคนอาจสงสัย ไม่เห็นพูดถึงน้ำมันบาง หรือแลมด้ามากกว่า 1 (0.11,0.12)เลย ส่วนมากการจูนบางมักใช้กันในเรื่องของการประหยัด ไม่เน้นกำลัง หรือการใช้งานปกติ เช่น พวกรถแข่งประหยัดพลังงาน หรือเทคโนโลยีสูงๆในรถรุ่นใหม่ๆที่สามารถควบคุมให้ประหยัดเชื้อเพลิงได้ในบางจังหวะการทำงาน
จูนไฟอย่างไร? การจูนไฟ หรือ การปรับองศาจุดระเบิด คือการบอกให้คอยล์เกิดประกายไฟทีหัวเทียนเพื่อเป็นการเริ่มต้นการจุดระเบิดของเครื่องยนต์ ซึ่งจะมีหน่วยเป็นองศาตามมุมเพลาข้อเหวี่ยง ในทางทฤษฎีว่ากันว่าให้เริ่มระเบิดที่ศูนย์ตายบน หรือ 0 องศา องศาในที่นี้เราจะเทียบกับศูนย์ตายบนของเครื่องยนต์ในจังหวะอัดสุดก่อนระเบิด แต่ในทางปฏิบัติแล้วองศาจุดระเบิดจะเริ่มก่อนที่ลูกสูบจะขึ้นสูงสุดที่ตำแหน่งศูนย์ตายบนด้วยซ้ำ เช่น 5 องศา ก่อนศูนย์ตายบน หรือในรอบสูงๆ บางเครื่องยนต์ อาจจะไปได้ถึง 40 องศาก่อนศูนย์ตายบนหรือมากกว่านั้น แล้วตัวเลขที่ดีที่สุด ของเครื่องยนต์แต่ละย่านรอบ โหลดควรเป็นองศาเท่าไหร่เราจะหาจากอะไร ต้องใช้เครื่องมืออะไรในการวัดผล มีผู้ใหญ่เคยเล่าให้ผมฟังว่า การจูนไฟ ก็เปรียบเสมอ ทฤษฎีการแกว่งชิงช้านั่นแหละ ถ้าแกว่งในจังหวะที่ถูก(ชิงช้าแกว่งสูงสุด ความเร็วเป็น0) แล้วค่อยผลัก ชิงช้าก็จะไปได้ดี และไม่เจ็บมือ เพื่อนไม่ตกชิงช้า หรือไม่ผลักจังหวะที่ชิงช้าลงไปแล้วจนผลักไม่ทัน สำหรับเครื่องยนต์แล้วการจูนไฟ ขอให้นึกไว้ตลอดว่า “อ่อน(จุดช้า)ไม่พัง แก่(จุดเร็ว)พัง” การจูนไฟเพื่อให้มีประสิทธิภาพควรทำบนไดโนเทสที่แม่นยำเชื่อถือได้ สามารถวัดซ้ำแล้วแรงม้าหรือแรงบิดคงที่ได้ เพื่อที่เราจะสามารถวัดผลจากการปรับจูนในแต่ละการวัดที่เราเปลี่ยนค่าต่างกันได้ การจูนไฟควรเริ่มจากองศาน้อยๆ(ไฟอ่อน) ไปหาองศามากๆ(ไฟแก่) เพราะถ้าเราเริ่มจากไฟแก่ๆก่อน อาจจะทำให้เครื่องยนต์น๊อคหรือเขก เสียหายได้ ถ้า…ไม่มีไดโนจูนไฟได้มั้ย? จะว่าได้ก็ได้ เช่นการลองบนถนน ถ้าคนขี่สามารถบอกได้ถึงความแตกต่างที่เปลี่ยนไป แต่คงไม่ละเอียดเท่าไดโนแน่นอน
ADVERTISEMENT | โฆษณา
ความจริงแล้ววิธีการจูนอาจจะทำกันได้หลากหลายขึ้นอยู่กับอุปกรณ์ ความพร้อมของเครื่องมือ หรือเหตุปัจจัยอื่นๆที่เอื้ออำนวย แต่เชื่อว่าถ้าเรามีหลักแนวคิดที่ถูกต้อง ผลงานที่ได้ย่อมดีแน่นอนครับ
ยังมีรายละเอียดและวิธีคิดในการปรับจูนอีกมากมาย ที่ยังไม่ได้ลงรายละเอียดในบทความนี้ ถ้ามีเวลาจะพยายามรวบรวมให้ได้อ่านกันอีกในบทความต่อๆไปนะครับ
วิทวัส อิ่มเอิบ
Facebook : Hispeed racing parts Thailand
Homepage : hispeedpiston.com